รู้จักโครงการ

“โครงการรักษ์ทะเล” ดำเนินการโดยมูลนิธิ Earth Agenda ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ SCG ในการนำเทคโนโลยี 3D Printing มาขึ้นรูปเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปะการังและสัตว์น้ำ เนื่องจากปะการังในท้องทะเลไทยยังคงเผชิญปัญหาจากหลากหลายสาเหตุ ทั้งจากการทิ้งขยะลงทะเล การลักลอบเก็บปะการังเพื่อการค้า
การท่องเที่ยวในแนวปะการัง ไปจนถึงสถานการณ์ปะการังฟอกขาว โดยเฉพาะแนวฝั่งอ่าวไทยที่พบปะการังฟอกขาวในระดับรุนแรง ซึ่งวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังที่ผลิตโดยเทคโนโลยี 3D Printing นั้นมีรูปทรงที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ แข็งแรง ทนทาน รวมทั้งทำมาจากปูนที่เป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล ทำให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน

เพื่อให้การฟื้นฟูปะการังเป็นรูปธรรม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ SCG จึงขอเชิญชวนผู้ที่มีความสนใจในการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมบริจาคเพื่อผลิตวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ในการนำไปวางใต้ท้องทะเล ณ เกาะสาก จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นอันจะนำไปสู่การฟื้นฟูทรัพยากรทางท้องทะเลอย่างยั่งยืนต่อไป

จุดเด่นของวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนที่พัฒนาโดยเทคโนโลยี 3D Printing

  1. รูปแบบสวยงามเสมือนปะการังจริง กลมกลืนกับธรรมชาติ
  2. มีความซับซ้อนทางโครงสร้างเหมาะให้สิ่งมีชีวิตเข้าไปอยู่อาศัย
  3. ผลิตจากปูนที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตในทะเล
  4. แข็งแรง มั่นคง ไม่จมลงในทราย ทนต่อแรงพัดของกระแสน้ำ
  5. ถอดประกอบและขนย้ายได้ง่าย ลดต้นทุนการขนส่งและติดตั้ง

รางวัล

วัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังรูปแบบ “นวัตปะการัง” ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2563 ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์